2025.03.18การทำงาน • ทำงานบริษัทญี่ปุ่น

ลูกน้องหลากสไตล์ : หัวหน้ารับมืออย่างไร?

ลูกน้องหลากสไตล์ : หัวหน้ารับมืออย่างไร?

ในทุกองค์กร หัวหน้าหรือผู้จัดการมักต้องเผชิญกับลูกน้องที่มีบุคลิกและวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน การบริหารคนที่มีหลากหลายสไตล์จึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย และหากสามารถจัดการได้ดี ก็จะช่วยให้ทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดความขัดแย้งในการทำงานได้ ในบทความนี้ เราจะมาทำความเข้าใจลูกน้องแต่ละประเภท และวิธีรับมือเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้น

1.ลูกน้องขยันแต่ขาดไอเดีย / ไม่เก่ง ลักษณะของลูกน้องประเภทนี้ คือ ทำงานหนักและมีความรับผิดชอบสูงเชื่อฟังคำสั่ง ทำตามหน้าที่ได้ดี แต่ไม่ค่อยเสนอความคิดเห็น ไอเดียใหม่ ๆ หรืองานบางอย่างยังขาดประสิทธิภาพ

วิธีรับมือ

  1. – กระตุ้นให้กล้าคิดและแสดงความคิดเห็น โดยให้โอกาสแสดงออกในที่ประชุม
  2. – ตั้งคำถามปลายเปิดเพื่อให้พวกเขาได้ฝึกคิดเชิงสร้างสรรค์
  3. – ส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนร่วมงานมากขึ้น
  4. – สอบถามถึงงานที่กำลังทำ หากมีปัญหาก็ลองให้เขาได้ลองคิดหาคำตอบในการแก้ปัญหางานที่ยังติดขัดหรือเป็นอุปสรรคในการพัฒนาความสามารถ

2.ลูกน้องเก่งแต่หัวแข็ง ลักษณะของลูกน้องประเภทนี้ คือ  เป็นคนที่มีความสามารถสูง มีความมั่นใจในตัวเอง และคิดว่าวิธีของตนดีที่สุดไม่ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นง่าย ๆ  ไม่ชอบทำตามคำสั่งโดยไม่มีเหตุผล

วิธีรับมือ

  1. – สร้างความสัมพันธ์ที่ดีโดยการรับฟังความคิดเห็น ใจเย็น และค่อยๆ ปรับพฤติกรรมไป
  2. – ใช้เหตุผลและข้อมูลประกอบเมื่อแนะนำหรือสั่งงาน
  3. – มอบหมายงานที่ให้เขาได้ใช้ศักยภาพเต็มที่ และเปิดโอกาสให้ตัดสินใจเองในบางเรื่อง

3.ลูกน้องขี้เกียจและไม่กระตือรือร้น ลักษณะของลูกน้องประเภทนี้ คือ ทำงานแบบขอไปที ไม่ค่อยใส่ใจรายละเอียด ไม่แสดงความกระตือรือร้นในการทำงาน มักต้องให้คนอื่นคอยกระตุ้น

วิธีรับมือ

  1. – พยายามค้นหาสาเหตุที่เขาไม่มีแรงจูงใจ เช่น ปัญหาส่วนตัว สุขภาพ หรือไม่เห็นคุณค่าและเป้าหมายของงาน
  2. – กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและให้รางวัลเมื่อทำได้สำเร็จ
  3. – ให้ Feedback อย่างตรงไปตรงมาและกระตุ้นให้พัฒนาตนเอง

4.ลูกน้องอ่อนไหว ต้องการกำลังใจตลอด ลักษณะของลูกน้องประเภทนี้ คือ มักไม่มั่นใจในตัวเอง กลัวทำผิดพลาด อาจเสียกำลังใจง่ายเมื่อถูกตำหนิ ต้องการคำชมและการยืนยันจากหัวหน้าเสมอ

วิธีรับมือ

  1. ให้คำชมเชยอย่างจริงใจเมื่อลูกน้องทำงานได้ดี
  2. เมื่อต้องให้ Feedback เชิงลบ ควรเลือกใช้วิธีที่นุ่มนวล เหมาะสมและสร้างสรรค์
  3. ส่งเสริมให้พวกเขามีความมั่นใจ โดยมอบหมายงานที่ท้าทายแต่เหมาะสมกับความสามารถ

5.ลูกน้องที่หมดไฟหรือไม่มีแพสชันในการทำงาน ลักษณะของลูกน้องประเภทนี้ จะคล้ายๆ กับลูกน้องขี้เกียจและไม่กระตือรือร้น คือขาดความกระตือรือร้น ไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน ทำงานแบบขอไปทีอาจรู้สึกเบื่อหน่ายหรือหมดไฟจากงานที่ทำ

วิธีรับมือ

  1. – ค้นหาสาเหตุที่ทำให้หมดไฟ อาจเป็นเพราะความกดดันหรือขาดเป้าหมายที่ชัดเจน
  2. – พูดคุยอย่างเปิดใจเพื่อทำความเข้าใจและช่วยหาทางแก้ไข
  3. – ให้โอกาสพวกเขาได้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ หรือมอบหมายงานที่แตกต่างจากเดิม
  4. – สนับสนุนให้พวกเขาพักผ่อนและหาสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน

6.ลูกน้องที่อายุมากกว่าหัวหน้า ลักษณะของลูกน้อง คือ อาจไม่ยอมรับคำแนะนำหรือสั่งงานจากหัวหน้าที่อายุน้อยกว่า บางครั้งอาจมีแนวคิดแบบเดิมและไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง

วิธีรับมือ

  1. – ให้ความเคารพ รับฟังความคิดเห็น แสดงท่าทีที่สุภาพและให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของพวกเขา
  2. – พยายามสร้างความร่วมมือมากกว่าการสั่งงานอย่างเดียว
  3. – แสดงให้เห็นถึงความสามารถและภาวะผู้นำผ่านการกระทำและการปฏิบัติ ไม่ใช่แค่ตำแหน่ง

7.ลูกน้องมืออาชีพ ทำงานได้โดยไม่ต้องสั่ง ลักษณะของลูกน้องประเภทนี้ คือ มีความรับผิดชอบสูงและสามารถจัดการงานเองได้ ไม่ต้องการการควบคุมมากนัก รวมถึงชอบการทำงานที่มีอิสระและความท้าทาย

วิธีรับมือ

  1. – ให้ความเชื่อมั่นและอิสระในการทำงาน แต่ก็ยังต้องให้มีการรายงานอยู่เป็นระยะ
  2. – มอบหมายงานที่ท้าทายเพื่อให้เกิดการพัฒนา
  3. – ใช้พวกเขาเป็นต้นแบบให้กับทีม และให้โอกาสในการเป็นผู้นำ

การทำงานเป็นทีม แน่นอนว่าในทีมงานก็จะมีลูกทีมที่มีความหมลากหลาย มีสไตล์การทำงานที่ไม่เหมือนกัน บางคนขยันมาก บางคนต้องกระตุ้นตลอดเวลา บางคนชอบอิสระ บางคนต้องการคำสั่งชัดๆ หัวหน้าที่ดีไม่ใช่คนที่เปลี่ยนทุกคนให้เหมือนกัน แต่คือคนที่ “เข้าใจ” และ “ปรับ” ให้เหมาะกับแต่ละคน

1.อ่านให้ออกว่าแต่ละคนต้องการอะไร แต่ละคนมีแรงจูงใจไม่เหมือนกัน เราไม่สามารถใช้วิธีเดียวกันได้ ดังนั้น ลองสังเกตดูว่าลูกน้องของคุณเป็นสไตล์ไหน แล้วปรับวิธีการทำงานให้เหมาะ

2.เปลี่ยนจาก “บังคับ” เป็น “เข้าใจ” บางครั้งลูกน้องไม่ได้ทำงานไม่ดี แต่แค่มีวิธีการทำงานที่ต่างจากเรา หัวหน้าที่ดีต้องลองเปิดใจรับวิธีการทำงานที่หลากหลาย ถ้ามันได้ผลลัพธ์ที่ดี ก็โอเค

3.ยืดหยุ่นแต่ยังคงมาตรฐานให้ทีมไปทางเดียวกัน ถึงแม้ลูกน้องแต่ละคนจะมีสไตล์ต่างกัน แต่สุดท้าย ทีมต้องมี “เป้าหมายเดียวกัน” ถ้าปล่อยให้ทุกคนทำตามใจเกินไป อาจจะกลายเป็นวุ่นวาย

4.ใช้จุดแข็งของแต่ละคน แทนที่จะพยายามเปลี่ยนเขา บางคนถนัดวางแผน บางคนถนัดลงมือทำ บางคนเก่งเรื่องการประสานงาน บางคนคิดสร้างสรรค์ การพยายามให้ทุกคนเก่งเหมือนกันอาจทำให้เสียเวลา แต่ถ้าใช้จุดแข็งของแต่ละคน ทีมจะไปได้เร็วกว่า

5.สื่อสารให้เคลียร์ ลดความเข้าใจผิด การที่ลูกทีมมีสไตล์ต่างกัน อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย หัวหน้าต้องเป็นคนที่สื่อสารชัดเจน และตรวจสอบให้แน่ใจว่าทุกคนเข้าใจตรงกัน

การบริหารลูกน้องที่มีสไตล์แตกต่างกันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หัวหน้าเข้าใจ มีความยืดหยุ่นและปรับตัวให้เข้ากับลูกน้องแต่ละประเภทได้ ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นให้กล้าคิด เสริมสร้างความมั่นใจ หรือให้แรงจูงใจในการทำงาน การมอบหมายงานโดยนำจุดแข็งของแต่ละคนมาปรับใช้ ด้วยเป้าหมายเดียวกันที่ชัดเจน ก็จะทำให้งานสำเร็จและทีมไปทางเดียวกัน ทั้งหมดนี้ล้วนช่วยสร้างทีมที่แข็งแกร่งและประสบความสำเร็จได้ สุดท้ายนี้ หัวหน้าที่ดีไม่ใช่แค่คนที่สั่งงานเก่ง แต่ต้องเป็นคนที่เข้าใจและพัฒนาลูกน้องให้เติบโตไปด้วยกัน แล้วคุณเคยพบลูกน้องประเภทไหนมากที่สุดและมีวิธีรับมือกันอย่างไร? 

ที่มา : https://www.facebook.com/albert.mpp

 


บริษัทจัดหางาน เพอร์ซันแนล คอนซัลแตนท์ฯ เราเป็นบริษัทจัดหางานญี่ปุ่นในกรุงเทพ  ให้บริการจัดหางานและสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถทั้งชาวไทยและญี่ปุ่นมาเป็นเวลากว่า 30 ปี ท่านที่สนใจหางาน อยากทำงานบริษัทญี่ปุ่น ไทยและต่างชาติ  ลงทะเบียนสมัครงานกับเพอร์ซันแนลฯ   ฟรี!! ไม่มีค่าใช้จ่าย
ต้องการฝากประวัติ Click
สอบถามโทร 02-2608454 หรือส่งเรซูเม่ (ภาษาอังกฤษ) jobs@personnelconsultant.co.th